เริ่มต้นปี 2563 กันมาก็สักพักใหญ่ๆ แล้ว เหมือนจะได้ยินหลายเสียงบ่นแว่วๆ กันมาว่าเวลาผ่านไปเร็วบ้างล่ะ กว่าจะผ่านเดือนมกราคมอันแสนทรหดบ้างล่ะ เชื่อว่าตลอดช่วงเข้าสู่ปีใหม่นี้หลายคนต่างก็ได้เจอทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี และเพื่อให้ทุกคนได้สบายใจ วันนี้เราจะพาไปทำบุญกันที่ 12 วัดพระธาตุประจำปีเกิดทั้ง 12 นักษัตร ไปเข้าวัดทำบุญและสวดมนต์รับสิริมงคลตลอดปีใหม่กัน
ชวนทำบุญ 12 วัดพระธาตุประจำปีนักษัตร เสริมสิริมงคลรับปี 2563
1. วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ : พระธาตุประจำปีชวด (หนู)
วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เดิมชื่อ “วัดพระธาตุเจ้าศรีจอมทอง” เป็นสถานที่ประดิษฐานพระธาตุส่วนที่เป็นพระเศียรเบื้องขวาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เชื่อกันว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ดอยจอมทองตั้งแต่ปีพ.ศ. 218 ปัจจุบันถูกบรรจุไว้ในพระโกศ 5 ชั้น
คำบูชาพระธาตุศรีจอมทอง
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
นะโมพุทธายะ นะมามิ ติโลกะโมลี โลหะกูเฏ ปะติฏฐิตัง ปูชิตัง สัพพะโลเกหิ
กิตติมันตัง มะโนหะลัง อะหังวันทามิ สัพพะทาฯ
อังคะวะหะเย ปุเรระมะเน โกวิลา ลัคคะปัพพะเต สะหิเหมะคูหา คัพเภ ทักขิณะโมลี ธาตุโย อะหังวันทามิ สัพพะทาฯ
2. วัดพระธาตุลำปางหลวง จังหวัดลำปาง : พระธาตุประจำปีฉลู (วัว)
วัดพระธาตุลำปางหลวงเริ่มสร้างและเสร็จในปีฉลู จึงถือเป็นพระธาตุประจำปีฉลู มีองค์พระธาตุลำปางหลวงเป็นประธาน มีสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรมอันวิจิตรงดงาม และยังเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า หรือพระแก้วมรกต ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวลำปางอีกด้วย
คำบูชาพระธาตุลำปางหลวง
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
ยาปาตุภูตา อะตุลานุภาวา จีรัง ปะติฏฐา ลัมภะกัปปะปุเร เทเวนะ คุตตา อุตตะราภิธัยยา นะมามิ หันตัง วะระชินะธาตุง กุมาระ กัสสะปะ นะราตะธาตุโย เมฆิยะมะหาเถโร กะนะธาตุง ฐะเปติ มะหาฐาเน เจติยัง ปูชิตา นะระเทเวหิ อะหัง วันทามิ ธาตุโย
3. วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ : พระธาตุประจำปีขาล (เสือ)
วัดพระธาตุช่อแฮ เป็นวัดศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองจังหวัดแพร่ เชื่อกันว่าภายในเจดีย์ได้บรรจุพระเกศา และพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีความเชื่อกันว่า หากผู้ที่เกิดปีขาลนำผ้าแพรสามสีมาถวายจะทำให้ชีวิตมีพลังรอดพ้นจากศัตรู
คำบูชาพระธาตุช่อแฮ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
โกเสยยะ ธะชัคคะ ปัพพะเต สัตตะมะ โนรัมเม พุทธะเกสาธาตุ ปะติฆฐิตา อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ ธาตุโย อะหัง วันทามิ สัพพะโส
4. วัดพระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน : พระธาตุประจำปีเถาะ (กระต่าย)
วัดพระธาตุแช่แห้ง เป็นโบราณสถานเก่าแก่ที่มีอายุยาวนานกว่า 600 ปี มีหลักฐานกล่าวไว้ในพงศาวดารเมืองน่านว่า เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัยมาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง ถือเป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญมากในจังหวัดน่าน
คำบูชาพระธาตุแช่แห้ง
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
ยา ธาตุภูตา อะตุลา นันทะปุเร เทวานุภาเวนะ วะระธาตุเสฏฐัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา อะหัง วันทามิ ธาตุโย
5. วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ : พระธาตุประจำปีมะโรง (งูใหญ่)
วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร สร้างจากศิลปะพม่าที่นิยมสร้างกันมาตั้งแต่สมัยพุกาม ภายในประดิษฐานพระสิงห์ (พระพุทธสิหิงค์) พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนา รู้จักกันในชื่อ “เชียงแสนสิงห์หนึ่ง” เป็นที่เคารพสักการะบูชาของชาวบ้านท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว
คำบูชาพระธาตุพระสิงห์
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
นะมามิ พิมพาสุขนาทิปูชัง สุรูปธารัง ติวาภิรัมมัง ติโลกะเชฏะฐัง วะระกิตติมันตัง ภะสิหะคะสุขัง อะหัง วันทามิ ทุระโต
6. วัดโพธารามมหาวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ : พระธาตุประจำปีมะเส็ง (งูเล็ก)
วัดโพธารามมหาวิหาร หรือ “วัดเจดีย์เจ็ดยอด” ในปีพ.ศ. 1998 ได้มีการสร้างวัดโพธารามมหาวิหารที่มีลักษณะคล้ายกับมหาวิหารโพธิที่พุทธคยาในอินเดีย และในปีพ.ศ. 2020 ก็มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 8 ของโลกที่วัดนี้ ปัจจุบันเจดีย์เจ็ดยอดได้หักและพังลงเกือบหมดแล้ว
คำบูชาพระศรีมหาโพธิ์
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
ปะ ฐะมัง โพธิปัลลังกัง ทุติยัง อนิมัสสะกัง ตะติยัง จังกะมะเสฏฐัง จตุตกัง ระตะนะฆะรัง ปัญจะมัง อะชะปาละนิโคธัง ฉัฏฐังราชายะตะนัง สัตตะมัง มุจจะสิทัง อะหัง วันทามิ ทูระโต
7. วัดพระบรมธาตุ จังหวัดตาก : พระธาตุประจำปีมะเมีย (ม้า)
พระบรมธาตุ เป็นเจดีย์ที่จำลองแบบมาจาก “พระธาตุชเวดากอง” ในเมียนมาร์โดยการครอบพระธาตุเจดีย์องค์เดิมไว้ ตัวอุโบสถมีประตูไม้แกะสลัก รวมทั้งบานหน้าต่างก็ได้แกะสลักเป็นพระพุทธประวัติปิดทองสวยงาม ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองซึ่งนับว่ามีคุณค่ามาก
คำบูชาพระบรมธาตุ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
สัมมาสัมพุทธะ นะลาตะ อัฏฐิ จะตุเกสาธาตุยา คันธะวะ รัง ฐิตัง ปะระมา ธาตุ เจติยัง อะหัง วันทามิ สัพพะธา
8. วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ : พระธาตุประจำปีมะแม (แพะ)
วัดพระธาตุดอยสุเทพ ก่อสร้างตามแบบศิลปะล้านนา ภายในพระธาตุเจดีย์ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ โดยวัดพระธาตุดอยสุเทพแห่งนี้ประดิษฐานอยู่บนดอยสุเทพ จึงเป็นปูชนียสถานสำคัญคู่เมืองเชียงใหม่ ที่นักท่องเที่ยวหรือแม้แต่คนท้องถิ่นเองต่างก็มานมัสการเพื่อความเป็นสิริมงคล
คำบูชาพระธาตุดอยสุเทพ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
ทิศเหนือ : ปัญญะวา อัสมิงเยวะ จันทิมา อิวะธารยัง ปีฏะกัตตะเย สาสนะนีย์ ยานิเกติฯ
ทิศใต้ : ปะฐะมัง อุปัชฌัง คาหาเปตวา ปัตตะจีวรัง ยัง ยัง ชาตัง สังฆมัชเฌ ปุจฉา สุวาหฯ
ทิศตะวันออก : โมกขะปะฐะมะวะรัง อะปายะนิวาระณัง อะระหัง สัคคะโสปาณังฯ
ทิศตะวันตก : สุวัณณะเจติยัง เกสาวะระมัตถุลุงคัง วะรัญญะธาตุง สุเทวะนามะกัง นะระ
9. วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม : พระธาตุประจำปีวอก (ลิง)
พระธาตุพนม ถือเป็นวัดศักดิ์สิทธิ์ที่เก่าแก่มากในภาคอีสาน ประดิษฐานอยู่บนภูกำพร้า สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ โดยให้เป็นที่สำหรับบรรจุพระอุรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ตามตำนานได้เล่าไว้ว่า วัดแห่งนี้ได้รับการตกแต่งโดยพระอินทร์และเหล่าเทวดา
คำบูชาพระธาตุพนม
นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
ปุริมายะ ทักขิณายะ ปัจฉิมายะ อุตตะรายะ เหฏฐิมายะ อุปะริมายะ ทิสายะ กะปะณะคิริสะมิง ปัพพะเต มะหากัสสะเปนะ ฐาปิตัง พุทธะอุรังคะธาตุง สิระสา นะมามิฯ
เสตะฉัตตัง สุวัณณะระชะตัง ระตะนัง ปะณีตัง พุทะอุรังคะเจติยัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
10. วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร จังหวัดลำพูน : พระธาตุประจำปีระกา (ไก่)
วัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นที่ประดิษฐานพระเกศบรมธาตุ ซึ่งเดิมถูกเก็บรักษาไว้ในกระบอกไม้รวก จากนั้นได้เปลี่ยนมาบรรจุไว้ในโกศทองคำในพระเจดีย์ จากนั้นก็ได้มีการบูรณะเรื่อยมา สำหรับพระเจดีย์องค์ปัจจุบันนั้นได้รับการบูรณะในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่เมื่อ 500 กว่าปีมาแล้ว
คำบูชาพระธาตุหริภุญชัย
นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
สุวัณณะเจติยัง หะริภุญชะยัฏฐัง วะระโมลีธารัง อุรัฏฐิเสฏฐังสะหะอังคุลิฏฐิง กัจจายะเนนา นิตะปัตตัปปะรัง สีเสนะ มัยหังปะระมามิ ธาตุง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
11. วัดเกตการาม จังหวัดเชียงใหม่ : พระธาตุประจำปีจอ (สุนัข)
วัดเกตการาม เป็นที่ประดิษฐานพระธาตุจุฬามณี ในพุทธประวัติได้กล่าวไว้ว่า ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์ที่ประดิษฐานไว้ซึ่งพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า จึงถือให้พระเจดีย์ที่วัดเกตการามแห่งนี้เป็นที่เคารพสักการะแทน เพราะมีชื่อที่พ้องกับพระเกศแก้วจุฬามณีเจดีย์นั่นเอง
คำบูชาพระธาตุจุฬามณี
นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
ตาวะติงสายะ ปุรัมเม เกสะจุฬามะณี สะรีระปัพพะเต ปูชิตา สัพพะเทวานัง ตังสิระสา ธาตุอุตตะมัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา
12. วัดพระธาตุดอยตุง จังหวัดเชียงราย : พระธาตุประจำปีกุน (หมู)
วัดพระธาตุดอยตุง เชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของเทพารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ภายในบรรจุพระรากขวัญเบื้องซ้าย เชื่อกันว่ามีเจดีย์เพียง 2 องค์เท่านั้นที่ได้รับการบูรณะมาจนปัจจุบัน เหตุผลที่เป็นพระธาตุประจำปีกุนก็เพราะปู่เจ้าลาวจกและพระยามังราย ต้นวงศ์กษัตริย์เชียงใหม่ ประสูติในปีกุนนั่นเอง
คำบูชาพระธาตุดอยตุง
นโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ)
พิมพา ธะชัคคะ ปัพพะเต นะจุฬาธาตุ จิรงมะหาคะมานะ มามิหัง อะหัง วันทามิ สัพพะทา