เชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินโรคสมาธิสั้น ซึ่งจะมีอาการวอกแวกง่ายไม่ค่อยจดจ่อกับอะไรนาน ๆ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นโรคที่เกิดขึ้นได้กับเด็กเล็กเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว โรคสมาธิสั้นสามารถเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ได้เหมือนกัน โดยอาการของโรคจะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับการวางแผน การแก้ไขปัญหา ไม่สามารถจัดการกับเวลาได้เมื่อต้องทำงานที่มีกำหนดเวลา ทำงานไม่เสร็จ เพราะมีความผิดปกติของสมองส่วนหน้าที่เกี่ยวข้องกับความคิด การวางแผน การบริหารจัดการชีวิตในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งคนในวัยทำงานหลายคนอาจเป็นโรคสมาธิสั้นโดยที่ไม่รู้ตัว ดังนั้น ในบทความนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ โรคที่ไม่ได้เป็นแค่กับเด็ก ให้มากขึ้น และรู้เท่าทันโรคนี้กันค่ะ
ทำความรู้จักโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ โรคที่ไม่ได้เป็นแค่กับเด็ก
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ คืออะไร?
โรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder, ADHD) เป็นโรคที่เกิดจากสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสมาธิ และพฤติกรรมมีการทำงานลดลง ทำให้มีปัญหากับการทำงานที่ต้องใช้สมาธิ อยู่นิ่งนาน ๆ ไม่ได้ มีปัญหาเกี่ยวกับการวางแผน การแก้ไขปัญหา ไม่สามารถจัดการกับเวลาได้เมื่อต้องทำงานที่มีกำหนดเวลา และทำงานไม่เสร็จ ซึ่งโรคนี้มักเกิดในวัยเด็ก แล้วเป็นต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ แต่บางรายอาจพึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ตอนโตแล้ว ซึ่งผู้ใหญ่ที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักมีอาการไม่ชัดเจนเหมือนกับในวัยเด็ก เนื่องจากมีอาการ hyperactivity ลดลง แต่หากไม่ได้รับการรักษา อาจส่งผลกระทบกับการดำเนินชีวิต และการทำงาน จนอาจพัฒนาไปสู่ปัญหากับบุคคลรอบข้างได้
สาเหตุของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่
สาเหตุของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่นั้นยังไม่ชัดเจน แต่โดยทั่วไปแล้ว ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้เกิดโรคสมาธิสั้น ได้แก่
- ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น พ่อแม่ พี่น้อง เป็นโรคสมาธิสั้น หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ
- มารดามีประวัติสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์
- เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าปกติ
- ได้รับสารตะกั่วในวัยเด็ก
อาการของโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่
- วอกแวกง่าย ฟังอะไรจับใจความไม่ค่อยได้
- ทำงานไม่เสร็จทันเวลาที่กำหนด
- ไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้
- ทำงานผิดพลาดบ่อย
- หาอะไรไม่ค่อยเจอ
- ชอบผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมเริ่มทำงาน
- ไปทำงานสายเป็นประจำ
- หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ
- อารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย หายเร็ว
- มีปัญหากับคนรอบข้างบ่อย ๆ
- เบื่อง่าย คอยอะไรนาน ๆ ไม่ค่อยได้
- ชอบอะไรแปลกใหม่ และตื่นเต้น
- เครียด หงุดหงิดง่าย
- บางคนมีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล และนอนไม่หลับ
การรักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่
การรักษาโรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ มีวิธีการรักษาเหมือนกับโรคสมาธิสั้นในเด็ก โดยต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือนักจิตวิทยา ทั้งด้านการใช้ยา การฝึกทักษะทางสังคม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
การรักษาด้วยยา โดยต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อได้รับยารักษาที่ถูกชนิดและขนาดยาเหมาะสมกับตัวผู้ป่วย ซึ่งยาที่ใช้ ได้แก่
- ยากลุ่มออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท เช่น ยา Methylphenidate ถือเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคสมาธิสั้น
- ยากลุ่มไม่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท เช่น ยา Atomoxetine ที่มักใช้ในกรณีผู้ป่วยไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยา Methylphenidate ได้
- ยากลุ่มอื่น ๆ เช่น ยาต้านซึมเศร้า ยาคลายกังวล
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยนักจิตวิทยา การรักษาที่ดีคือการปรับพฤติกรรม ควรทำอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมตนเองให้ทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงได้ และเรียนรู้ทักษะการฝึกอารมณ์ ทักษะทางสังคม เพื่อให้รู้จักสังเกตอารมณ์ของตนเอง และผู้อื่น ลดปัญหาการทำงานกับเพื่อนร่วมงาน และสามารถทำงานในหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เกิดความเครียดจนเกินไป
การรักษาปัญหาทางจิตเวชอื่น ๆ ร่วม ควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เนื่องจากผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นมักเผชิญสภาวะจิตใจร่วม เช่น ปัญหาการเรียนรู้ วิตกกังวล อารมณ์เปลี่ยนแปลง ย้ำคิดย้ำทำ
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยตนเอง ช่วยให้อาการของโรคสมาธิสั้นดีขึ้น
- ฝึกอารมณ์ตนเอง ไม่ดีใจหรือเสียใจเร็วเกินไป
- รู้จักสังเกตอารมณ์ของผู้อื่น รู้จักรอคอย รับฟัง เอาใจเขามาใส่ใจเรา เพื่อลดปัญหาการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
- ลดพฤติกรรมใจร้อนหุนหันพลันแล่น เช่น ควรขับรถให้ช้าลง
- จัดตารางเวลาในการทำงาน และใช้ชีวิต มีการวางแผนไว้ล่วงหน้า
- จัดวางสิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นระเบียบเป็นที่เป็นทาง
- ทำประโยชน์ให้แก่ตัวเอง และผู้อื่น เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ เสริมความมั่นใจ และความมีคุณค่าให้ตัวเอง
- พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงอาหารประเภทน้ำตาล และคาเฟอีน
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
สรุป
โรคสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย และจิตใจ ส่งผลกระทบต่อการทำงาน รวมไปถึงความสันพันธ์กับคนรอบข้าง หากสงสัยว่า คุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ แนะนำควรมาปรึกษาจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัย และประเมินอาการ เพื่อวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป โดยต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือนักจิตวิทยา ทั้งด้านการใช้ยา การฝึกทักษะทางสังคม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนั้น อย่าลืมสังเกตตัวเองอยู่บ่อย ๆ เพื่อให้ได้รับการรักษาได้ทันท่วงค่ะ
เกี่ยวกับ Plusprinting
Plusprinting เป็นโรงพิมพ์ออนไลน์ ดำเนินธุรกิจโดย บริษัท บุ๊คพลัส พับลิชชิ่ง จำกัด (BookPlus Publishing Co, Ltd.) ซึ่งทางเรามีบริการด้านการพิมพ์แบบครบวงจร พร้อมดีไซน์ให้ได้ตรงกับความต้องการ ด้วยประสบการณ์อันยาวนาน และทีมงานมืออาชีพที่พร้อมจะทำให้งานพิมพ์ออกมาตรงตามความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าทุกท่าน
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.sikarin.com/ , https://www.bumrungrad.com/ และ https://www.rama.mahidol.ac.th/
ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.freepik.com/