ในปัจจุบันการเป็นเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ สามารถทำได้ง่ายมากขึ้น แต่สำหรับมือใหม่ที่กำลังเริ่มต้นทำแบรนด์เป็นของตัวเองแล้วอาจจะมีปัญหา ไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มจากตรงไหน และการที่จะทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยทีเดียว ดังนั้นวันนี้เราจะมาแนะนำวิธีง่าย ๆ ถ้าอยากเป็นเจ้าของแบรนด์ต้องทำอะไรบ้าง มาฝากกัน

จะเป็นเจ้าของแบรนด์ทั้งที ต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง

สินค้าที่นำมาขาย

เริ่มแรกของการเป็นเจ้าของแบรนด์ สิ่งแรกเลย เราก็ต้องหาสินค้าที่เราต้องการก่อน ว่าเราอยากจะขายอะไร อาจจะเริ่มจากความชอบส่วนตัวก่อน หรือสินค้าประเภทที่เราคุ้นเคย เช่น บางคนอยากสร้างแบรนด์ให้กับเครื่องประดับ เพราะเป็นคนชอบใส่เครื่องประดับอย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน แต่ถ้าหากไม่มีก็ลองศึกษาตลาดว่าในตอนนี้กำลังนิยมสินค้าประเภทไหนอยู่บ้าง หรือลองเริ่มโดยการเอาสินค้าของแบรนด์อื่นมาขายก่อนเพื่อที่จะได้มีประสบการณ์ และความรู้ที่เพิ่มมากขึ้น ก่อนที่จะนำมาผลิตเป็นแบรนด์ของตัวเอง

การตั้งราคาสินค้า

ขั้นตอนต่อมา คือ การตั้งราคาสินค้า เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ลูกค้าตัดสินใจที่จะซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าของเรา หากเราสามารถตั้งราคาได้ถูกต้อง และเหมาะสมตามที่สินค้าหรือการบริการของเราตอบสนองต่อลูกค้าได้ โดยอาจจะตั้งราคา ให้เป็นเลข 9 ต่อท้ายจะทำให้เขารู้สึกว่าสินค้าชิ้นนี้มีราคาไม่แพงมาก หรือตั้งราคาที่มีตัวเลขลงท้ายระหว่าง ต้น-กลาง-หลัง เช่น 1, 2, 3, 4 และ 6, 7, 8 หากในตัวเลขราคามีเลขเหล่านี้ต่อท้าย จะเป็นการยากในการคำนวณราคา ตามหลักจิตวิทยาแล้วส่วนใหญ่มนุษย์จะคำนวณตัวเลขต่าง ๆ จากการนำตัวเลข 0,5 ที่อยู่ท้ายราคามาเป็นหลักการในการรวมราคาสินค้า ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ลูกค้าสามารถรวมยอดชำระในการซื้อสินค้าทั้งหมดได้ง่าย

ช่องทางการขาย

เมื่อได้สินค้ามาแล้ว เจ้าของแบรนด์จะต้องรู้ว่าจะใช้ช่องทางการขายไหนในการสร้างการรับรู้สินค้าให้กับลูกค้า และทำแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก เช่น ขายทางออนไลน์ หรือว่ามีหน้าร้าน หรือทั้งสองช่องทาง ซึ่งถ้าขายทางออนไลน์ อย่าง FACEBOOK, INSTAGRAM หรือ LINE ซึ่งแต่ละช่องทางก็มีเทคนิคการขายที่แตกต่างกัน

  • ขายบนเพจ Facebook เป็นช่องทางที่ง่ายที่สุด คนขายนิยมสูงสุด และก็เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเราได้มากที่สุดเช่นกัน ทำให้สินค้าเราเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่ายมาก ยิ่งปัจจุบันให้ลงโฆษณา (Facebook Ads) ที่สามารถตั้งงบที่ใช้ลงโฆษณา และกำหนดกลุ่มเป้าหมายเอง
  • ขายบน Instagram เป็นอีกช่องทางที่เริ่มนิยมเป็นอันดับถัดมา โดยจะเน้นการขายผ่านรูปภาพ ลงรายละเอียดได้ไม่มากเหมือน Facebook ดังนั้นหากจะขายผ่านช่องทางนี้ จะต้องมีฝีมือในการถ่ายภาพสินค้าในระดับนึง
  • ขายผ่าน LINE และ LINE@ ช่องทางนี้ก็เป็นอีกช่องทางที่ควรมี แต่ต้องหลังจากที่คุณมีเพจ Facebook หรือ ร้านบน Instagram แล้ว เพราะช่องทางนี้เป็นช่องทางที่ร้านสามารถแชทกับลูกค้าได้โดยตรง และอัปเดตสินค้าคอลเลคชั่นใหม่ โปรโมชั่นล่าสุด ฯลฯ

งานพิมพ์ที่ควรมี

การสร้างแบรนด์ สร้างสินค้าให้เป็นที่รู้จักนั้น สื่อสิ่งพิมพ์ก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อเป็นการดึงดูดความสนใจ และรู้จักธุรกิจของเรามากยิ่งขึ้นผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ อย่างเช่น ถ้าเราขายเครื่องประดับ สิ่งพิมพ์ที่ควรมี ได้แก่

  • นามบัตร เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทุกคนนิยมใช้มากที่สุดอีกช่องทางหนึ่ง เพราะถ้าคุณมีนามบัตรที่ดี ถ่ายทอดความเป็นคุณ ถ่ายทอดความเป็นแบรนด์ได้ ก็จะช่วยสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า และช่วยสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ได้อีกด้วย
  • ป้ายแท็กสินค้า เป็นสื่อตัวกลาง อีกแบบหนึ่งที่บอกความเป็น Product หรือสินค้า ของแบรนด์นั้น ๆ ซึ่งจะช่วยบอกข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า หรือแบรนด์ได้ เช่น ป้ายแท็กสร้อย จะบอกว่าผลิตที่ไหน ความยาวสร้อย ราคา ชื่อแบรนด์ เบอร์โทรศัพท์ เว็บไซต์หรือข้อมูลการติดต่ออื่น ๆ การมีป้ายแบรนด์ที่โดดเด่น สามารถทำให้สินค้าของเราน่าสนใจ และน่าดึงดูด
  • กล่องบรรจุภัณฑ์ เป็นสิ่งที่นำมาใช้สำหรับห่อหุ้ม และป้องกันผลิตภัณฑ์หรือสินค้า เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการขนส่ง การกระแทกต่าง ๆ นอกจากนี้กล่องบรรจุภัณฑ์ ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของเราได้ง่าย ๆ และยังทำให้ลูกค้าจดจำร้านค้าของเราได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

อุปกรณ์แพ็คสินค้า

การเตรียมอุปกรณ์สำหรับแพ็คของให้พร้อม จะช่วยทำให้การแพ็คสินค้ารวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งอุปกรณ์แพ็คของ ได้แก่ กล่องกระดาษ เชือกไปรษณีย์ เทปกาว โฟมกันกระแทก ปากกา จะต้องเตรียมไว้ให้พร้อม และอุปกรณ์เหล่านี้จะช่วยปกป้องสินค้าของเราจากแรงกระแทกที่อาจเปิดจากการขนส่งได้ ทั้งนี้เพื่อให้สินค้ามีสภาพสมบูรณ์ เมื่อส่งถึงลูกค้า

การเสียภาษี

ภาษีของการขายของออนไลน์นับเป็นภาษีเงินได้จากการค้าขาย ซึ่งจะมีการแบ่งการคำนวณเป็นสองประเภท ได้แก่

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : กรณีเป็นพ่อค้าแม่ค้าธรรมดา
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล : กรณีที่ร้านค้านั้น ๆ มีการจดทะเบียนเป็นบริษัท

โดยการคิดอัตราภาษีนั้นก็ไม่ได้แตกต่างกับการจ่ายภาษีตามปกติ คือคิดตามอัตราขั้นบันไดตามกฎหมายกำหนด และมีค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักภาษีได้ ดังนี้

  • หักค่าใช้จ่ายตามอัตรา 60% ของเงินได้ สำหรับร้านที่ดำเนินการแบบซื้อมา ขายไป ไม่มีการผลิตภายในร้าน
  • หักตามค่าใช้จ่ายจริง สำหรับบ้านที่มีการผลิตภายในร้าน
  • หักแบบเหมา กรณีที่มีรายได้จากช่องทางออนไลน์เกิน 1,000,000 บาท โดยคิดภาษีเป็น 0.5% ของเงินได้

ซึ่งคนทั่วไปก็สามารถคิดภาษีด้วยตัวเองได้ หรือใช้โปรแกรมในการคำนวณได้ ด้วยสูตร (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) และแน่นอนว่าหากรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็มีโอกาสที่จะไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน

การเป็นเจ้าของแบรนด์ ถึงแม้ในปัจจุบันอาจจะทำได้ง่ายขึ้น แต่การที่เราเตรียมข้อมูล เตรียมความพร้อมต่าง ๆ ก็จะยิ่งช่วยทำให้เราสามารถทำแบรนด์ออกมาได้ดีมากยิ่งขึ้น หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน และมือใหม่ที่อยากเป็นเจ้าของแบรนด์