วันตรุษจีน หรือ วันขึ้นปีใหม่ของจีน
สำหรับชาวจีนแล้ว “เทศกาลตรุษจีน” จัดว่าเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีน เหมือนกับวันสงกรานต์ที่เป็นวันปีใหม่ของไทยเรานั่นเอง สำหรับวันตรุษจีนในปี 2563 นี้จะตรงกับวันเสาร์ที่ 25 มกราคม ซึ่งถือเป็นวันเที่ยว หรือ “วันปีใหม่” โดยจะไม่ถือให้เป็นวันหยุดราชการ แต่บางโรงเรียนหรือบางบริษัทห้างร้านที่เป็นของชาวจีนจะอนุญาตให้หยุดเพื่อกลับไปเฉลิมฉลองวันสำคัญกับที่บ้านได้เป็นเวลา 3 – 4 วัน
ในวันตรุษจีนของทุกๆ ปี ชาวจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าใหม่ที่สวยงาม ออกไปเที่ยว ไหว้ขอพรผู้ใหญ่ และละเว้นการทำบาป เพราะชาวจีนถือกันว่าวันนี้เป็นวันดี เป็นวันแห่งสิริมงคล มีการทำความสะอาดบ้านเรือนครั้งใหญ่เพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย มีการประดับบ้านด้วยกระดาษที่มีคำอวยพร มีการซื้อของขวัญอวยพรปีใหม่ให้ญาติ จับจ่ายอาหารและขนมหวาน
ความหมายของของไหว้วันตรุษจีน
เมื่อถึงวันตรุษจีนในแต่ละปี บรรดาครอบครัวลูกหลานคนจีนหรือชาวจีนเองก็จะมีการนำอาหารคาวหวาน กับข้าวคาว และกับข้าวเจอย่างละ 3 หรือ 5 ชนิด สุรา น้ำชา และข้าวสวย รวมทั้งกระดาษเงินและกระดาษทองมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษ โดยอาหารแต่ละอย่างมีความหมายอันเป็นมงคลดังนี้
1. ผลไม้
– กล้วย หมายถึง กวักเรียกโชคลาภ และให้ได้มีลูกหลานเต็มบ้านเต็มเมือง
– แอปเปิล หมายถึง ความสงบสุขและสันติภาพ
– สาลี่ หมายถึง โชคลาภมาถึง (ไม่นิยมนำไปไหว้บรรพบุรุษและวิญญาณไร้ญาติ)
– ส้มสีทอง หมายถึง ความสวัสดีมหามงคล
– องุ่น หมายถึง ความเพิ่มพูน
– สับปะรด หมายถึง มีโชคมาหา
2. อาหาร
– ไก่ หมายถึง ความสง่างาม ยศ ความขยันขันแข็งและความก้าวหน้าในเรื่องการงาน (นิยมเป็นไก่ที่มีทั้งหัว ตัว ขา และปีก แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์)
– เป็ด หมายถึง ความบริสุทธิ์ สะอาด ความสามารถอันหลากหลาย
– ปลา และปลาหมึก หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ เหลือกินเหลือใช้
– หมู หมายถึง มีกินมีใช้อุดมสมบูรณ์
– หมี่ซั่ว หมายถึง อายุยืนยาว
– เม็ดบัว หมายถึง การมีบุตรชายจำนวนมาก
– ถั่วตัด หมายถึง แท่งเงิน
– สาหร่ายทะเลสีดำ หมายถึง ความมั่งคั่งร่ำรวย
– หน่อไม้ หมายถึง การอวยพรให้ร่ำรวยผาสุก
หลีกเลี่ยงเต้าหู้ขาว เนื่องจากสีขาวคือสีสำหรับงานโศกเศร้า
3. ขนม
– ขนมเข่ง หมายถึง ความหวานชื่นและความราบรื่นในชีวิต สำหรับขนมเข่งที่ใส่ในชะลอมนั้นหมายถึงความหวานชื่นอันสมบูรณ์
– ขนมเทียน หมายถึง ความหวานชื่น ราบรื่น ด้วยรูปลักษณ์ที่เป็นทรงกรวยแหลมทำให้สื่อความหมายถึงความเป็นมงคลเหมือนกับเจดีย์
– ขนมไข่ หมายถึง ความเจริญเติบโต
– ขนมถ้วยฟู และขนมสาลี่ หมายถึง ความเพิ่มพูนรุ่งเรือง เฟื่องฟู
– ซาลาเปา หรือหมั่นโถว หมายถึง โชคดี
– จันอับ (จั๋งอั๊บ) ปิ่นโตที่ประกอบไปด้วยขนม 5 อย่างคือ ถั่วตัด งาตัด ถั่วเคลือบน้ำตาล ฟักเชื่อม และขนมข้าวพอง หมายถึง ความหวานที่เพิ่มพูน และการมีความสุขตลอดไป
4. กระดาษเงิน กระดาษทอง
สำหรับการเซ่นไหว้กระดาษเงินและกระดาษทอง คนจีนมีความเชื่อว่า เมื่อตายไปแล้ว วิญญาณจะไปอยู่อีกภพโลกหนึ่ง เรียกว่า “อิมกัง” บรรดาลูกหลานจึงต้องแสดงความกตัญญูด้วยการเผากระดาษเงินและกระดาษทอง ซึ่งเปรียบเสมือนเงินทอง ส่งไปให้บรรพบุรุษได้ใช้ในอีกโลกหนึ่งนั่นเอง