“รัฐธรรมนูญ” คือกฎหมายสูงสุดที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องกำหนดกฎเกณฑ์และระเบียบแบบแผนให้กับคนในสังคม เพื่อให้คนในสังคมมีกรอบในการดำเนินชีวิตด้วยความถูกต้อง เป็นธรรม และไม่เบียดเบียนผู้อื่น โดยทุกประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบเผด็จการ ล้วนแล้วแต่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎบังคับใช้ เพื่อให้เป็นแนวทางในการบริหารตามระบบระบอบของประเทศนั้นๆ

วันรัฐธรรมนูญของไทย

วันรัฐธรรมนูญของไทยตรงกับวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญอาณาจักรสยามฉบับถาวรขึ้นเป็นครั้งแรก ภายหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับเดิมซึ่งไม่ใช่ฉบับถาวร โดยผลของการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้คือให้ยกเลิกพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนในปีเดียวกัน

โดยสาเหตุที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น เนื่องมาจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เศรษฐกิจโลกตกต่ำเป็นอย่างมาก มีการปลดข้าราชการออกหลายอัตรา รวมทั้งมีการออกกฎหมายเก็บภาษี เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน ทำให้ข้าราชการบางส่วนและประชาชนจำนวนมากเกิดความไม่พอใจและได้ก่อการปฏิวัติขึ้น เพราะเหตุนี้ จึงได้ประกาศให้ใช้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475

แต่ถึงแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแล้ว ประเทศไทยก็ยังคงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศเช่นเดิม การปฏิบัติราชการต่างๆ ก็จะยังต้องมีกรรมการราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งจะต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรก่อนจึงจะใช้ได้ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนมาใช้รัฐธรรมนูญอาณาจักรสยามฉบับถาวร พุทธศักราช 2475 ในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2575 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ฉบับแรกของการเริ่มต้นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 20 ฉบับ โดยฉบับปัจจุบันคือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” จำนวน 279 มาตรา ซึ่งได้มีการประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560