ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบไปไม่น้อย เพราะจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โรคระบาดครั้งนี้ทำให้ประชาชนตื่นตัวและอยู่ในบ้านเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 บางองค์กรก็ให้พนักงานทำงานที่บ้าน และบางท่านกลับจากต่างประเทศกลุ่มเสี่ยง หรือ อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคโควิด-19 จะต้องทำการกักตัวอยู่บ้าน 14 วัน ดังนั้น ทำให้ประชาชนต่างพากันซื้อของและตุนอาหารในช่วง 14 วันนี้
การเก็บตุนอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารสด หรือ อาหารแห้ง เราควรจะรู้วิธีเก็บและควรจะรู้ว่าอาหารแต่ละชนิดมีระยะเวลาในการเก็บเท่าไหร่? ทั้งนี้อาหารแห้ง ควรเก็บให้มิดชิด ระวังมด หนู แมลงสาบ ส่วนพวกเครื่องปรุงรสต่าง ๆ ควรซื้อแต่พอดี หากใช้ไม่ทันเก็บไว้นานสีและรสชาติก็จะเปลี่ยน อาหารสด หากเก็บในอุณหภูมิและระยะเวลาที่ไม่ถูกต้อง อาหารก็จะเสียและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาหารสดที่แช่แข็งนั้น เมื่อนำออกมาใช้ ควรใช้ทีเดียวให้หมด ไม่ควรนำส่วนที่เหลือกลับเข้าช่องแข็งซ้ำ ส่วนผักบางชนิดลวกแล้วเก็บเข้าช่องแข็งไว้ได้ ผักเนื้อบางให้ห่อกระดาษโดยไม่ต้องล้าง แล้วห่อด้วยพลาสติกอีกชั้น แล้วนำเข้าตู้เย็น
การถนอมหรือการแปรรูป จึงเป็นสิ่งที่สามารถยืดระยะเวลาของอาหารได้นานยิ่งขึ้น การถนอมอาหารหรือการแปรรูปอาหารเองก็มีหลากหลายวิธี ดังนี้
การเก็บในสภาพสด
ประเภทผัก ถ้ารู้วิธีเก็บ จะสามารถเก็บไว้ได้นาน เช่น หอม กระเทียม ควรแขวนไว้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ฟักเขียว ฟักทอง เก็บในที่ร่มและอากาศถ่ายเท มะนาวสด ใช้วิธีฝังทรายที่พรมน้ำเล็กน้อย จะป้องกันไม่ให้ผิวของเปลือกมะนาวสัมผัสอากาศ เป็นการป้องกันการเหี่ยว ทำให้สามารถเก็บมะนาวได้เป็นเวลาหลายเดือน
การทำให้แห้ง
การตากแดดและการผึ่งลม สามารถนำผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ มาตากให้แห้ง เพื่อป้องกันการเน่าเสียและสามารถยืดอายุอาหารได้ เช่น ปลาตากแห้ง หมึกตากแห้ง กุ้งแห้ง เนื้อแดดเดียว หมูแดดเดียว ผลไม้ตากแห้งต่าง ๆ
การกวน มักจะใช้เป็นผลไม้สุก เช่น มะม่วงกวน ทุเรียนกวน เป็นต้น
การรมควัน
การรมควัน มักจะนิยมทำกับปลา ปลารมควันถ้าเก็บโดยแขวนผึ่งลมและมีอากาศถ่ายเท จะสามารถเก็บไว้ได้ประมาณ 2-3 เดือน ปลาที่นิยมนำมาทำปลารมควัน ได้แก่ ปลาเนื้ออ่อน ปลาช่อน ปลากดทะเล ฯลฯ
การแช่อิ่ม
การแช่อิ่ม สามารถใช้ผักและผลไม้บางชนิด โดยแช่ในเชื่อม น้ำตาลจะช่วยดึงน้ำออกจากผักและผลไม้ ทำให้ผักหรือผลไม้นั้น มีรสหวานขึ้น ผลไม้และผักที่นำไปแช่อิ่ม เช่น มะม่วงแช่อิ่ม มะละกอแช่อิ่ม ฟักแช่อิ่ม เปลือกส้มแช่อิ่ม ฯลฯ
การทอดหรือการคั่ว
การทอด ก็เป็นอีกวิธีที่สามารถยืดอายุของอาหารได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์หรือผลไม้ เช่น แคปหมู หนังหมูทอด กล้วยฉาบ เผือกฉาบ ถั่วทอด พริกทอด เป็นต้น
การคั่ว ก็ถือเป็นวิธีที่ทำให้ผลการเกษตรสุก ได้โดยการตั้งกระทะไฟให้ร้อนแล้วกลับไปกลับมาในกระทะ มักจะคั่วเป็นถั่วลิสง เกาลัด เป็นต้น
การหมักเกลือ
การหมักเกลือ มักจะใช้กับจำพวกเนื้อสัตว์ เพื่อไม่ให้เกิดการเน่าเสียและยืดอายุของอาหารได้นานขึ้น โดยการคลุกเนื้อสัตว์กับเกลือ แล้วนำไปตากแดด 1-2 วัน สามารถนำไปทอดหรือปิ้งก่อนรับประทานได้ ส่วนใหญ่จะเป็น เนื้อหมักเกลือ หมูหมักเกลือ เป็นต้น
การหมักดอง
การหมัก เป็นการอาศัยจุลินทรีย์ ที่มีประโยชน์บางชนิดนำมาหมักและหมักทิ้งไว้ ประมาณ 2-3 วัน หรือหลายเดือน แล้วชนิดของอาหาร เช่น น้ำปลา ปลาร้า ไส้กรอกเปรี้ยว ข้าวหมาก ฯลฯ
การดอง เป็นการถนอมอาหารในน้ำเกลือและเติมเครื่องเทศอื่น ๆ เข้าไป ส่วนใหญ่จะดองเป็นพวกผักและผลไม้ ไม่ว่าจะเป็น ผักกาดดอง หน่อไม้ดอง แตงกวาดอง กระเทียมดอง ขิงดอง มะม่วงดอง เป็นต้น
ความสำคัญอีกอย่าง คือ การปรุงอาหารให้สุก ล้างมือทุกครั้งที่ทำอาหารและล้างมือทุกครั้งก่อนและหลังประทานอาหาร ถึงแม้จะอยู่ในบ้านเราก็ควรรักษาความสะอาด เพื่อหลีกเลี่ยงเชื้อโรคและดูแลรักษาสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ