“วันสิทธิเด็กสากล” ตรงกับวันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปี โดยทางองค์การสหประชาชาติได้กำหนดขึ้นเพื่อเป็นการรณรงค์ในเรื่องของการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มีจุดประสงค์หลักคือเพื่อให้เด็กทุกคนที่เกิดมาได้มีชีวิตอยู่รอดปลอดภัย มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถเติบโตและได้รับการศึกษา มีการพัฒนาการที่สมควรตามวัย และเพื่อให้เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเท่าเทียม ปลอดภัยจากอันตราย การถูกทำร้าย การถูกละเมิดและถูกแสวงประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม
วันสิทธิเด็กสากลถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะเป็นการรณรงค์ส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้น เด็กทุกคนจะมีสิทธิ์มีเสียงในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งมีสิทธิ์ที่จะกำหนดชีวิตของตัวเอง โดยทางองค์การสหประชาชาติได้รับรองไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 ซึ่งมีหลักการ 4 ข้อ ดังนี้
1. เด็กทุกคนที่เกิดมาต้องมีชีวิตรอด
สิทธิในการอยู่รอดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนรวมทั้งเด็กที่มีโอกาสได้คลอดออกมาจากท้องแม่ โดยเด็กทุกคนจะต้องมีชีวิตรอดปลอดภัย มีที่อยู่อาศัย มีสิทธิในการมีชื่อและสัญชาติอย่างถูกต้อง รวมทั้งได้รับบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม
2. เด็กทุกคนต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง
เด็กทุกคนจะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การถูกทารุณกรรมหรือถูกทำร้ายร่างกาย การถูกใช้แรงงานเยี่ยงทาสจนเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบต่อพัฒนาการทางร่างกาย สมอง และจิตใจของเด็ก การถูกเอารัดเอาเปรียบทางเพศ ถูกนำไปค้าประเวณีหรือถ่ายภาพลามก การถูกนำไปค้ายาเสพติด เป็นต้น
3. เด็กทุกคนต้องได้รับการพัฒนาโดยรอบด้าน
เด็กทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วจะต้องได้รับการพัฒนาทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา รวมไปถึงเด็กด้อยโอกาส พิการ หรือไร้สัญชาติ ที่จะต้องได้รับการพัฒนาโดยรอบด้านเช่นเดียวกัน นอกจากนี้เด็กๆ ยังต้องได้รับสิทธิที่จะได้เล่นและพักผ่อน เพื่อเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการและการเรียนรู้
4. เด็กทุกคนต้องมีส่วนร่วมในสังคม
ในข้อนี้จะเป็นการตระหนักและการรับรู้ถึงความรู้ความสามารถ และความต้องการแสดงออกของเด็ก จึงได้จัดให้มีเวทีของเด็กทั้งในระดับสากล ระดับชาติ และระดับท้องถิ่น เพื่อให้เด็กได้แสดงความคิดเห็น มุมมอง และทัศนคติอย่างเต็มที่ โดยผู้ใหญ่จะมีหน้าที่รับฟังเสียงสะท้อนเหล่านี้ที่เป็นทั้งความรู้สึกนึกคิดและความในใจของเด็กโดยตรง