ในการทำงานไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ ล้วนแล้วแต่ต้องมีนายจ้างและลูกจ้างเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการดำเนินธุรกิจและสร้างฐานอันมั่นคงให้กับองค์กร ในการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กร นายจ้างและลูกจ้างจำเป็นจะต้องยึดถือและปฏิบัติตาม กฎหมายแรงงาน เพื่อให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างชอบธรรม ตามกฎหมายที่รัฐได้บัญญัติเอาไว้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นนายจ้างหรือลูกจ้างก็ควรมีความรู้ในเรื่องของกฎหมายแรงงานเพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ และเพื่อความสบายใจในการทำงานร่วมกัน
กฎหมายแรงงานตามที่รัฐได้บัญญัติไว้มีอยู่ด้วยกันหลายข้อ แต่เราจะขอกล่าวถึงเฉพาะ 5 ข้อสำคัญๆ ที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างควรรู้ เพื่อให้การทำงานรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นไปอย่างราบรื่น
1. การจ่ายค่าจ้าง
- หากมีการคำนวณการจ่ายค่าจ้างในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งเดือน เช่น รายวันหรือรายชั่วโมง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่า 1 ครั้งต่อเดือนหรือตามที่ตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ในกรณีที่มีการคำนวณการจ่ายค่าจ้างนอกเหนือจากนี้ ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างตรงตามเวลาที่ได้ตกลงกันไว้กับนายจ้าง
- นายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างในการทำงานล่วงเวลา การทำงานในวันหยุด และการทำงานล่วงเวลาในวันหยุดให้กับลูกจ้างไม่น้อยกว่า 1 ครั้งต่อเดือน
- กรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง นายจ้างจะต้องจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดให้กับลูกจ้างภายใน 3 วันตั้งแต่วันที่เลิกจ้า
ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.freepik.com/free-photo/business-man-counting-dollar-banknote-online-business-concept_3805663.htm
2. การลาคลอด
เดิมกฎหมายแรงงานได้กำหนดจำนวนวันในการลาคลอดไว้ที่ 90 วัน แต่ปัจจุบันนี้ลูกจ้างหญิงที่ตั้งครรภ์มีสิทธิ์ในการลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วัน รวมวันลาเพื่อตรวจครรภ์ก่อนคลอด และวันหยุดตามปกติในช่วงที่ลาคลอด โดยในช่วงลาคลอดนายจ้างมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างไม่เกิน 45 วัน และลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างจากประกันสังคมอีก 45 วัน
ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.freepik.com/free-photo/pregnant-woman_966380.htm
3. การย้ายสถานประกอบการ
หากมีการย้ายสถานประกอบการ นายจ้างต้องติดประกาศให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน หากไม่มีการประกาศใดๆ ลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชยพิเศษจากนายจ้างเป็นจำนวน 30 วัน ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ประสงค์จะย้ายก็สามารถแจ้งเป็นหนังสือให้นายจ้างทราบภายใน 30 วันที่ติดประกาศ เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์ในการได้รับเงินชดเชยพิเศษสูงสุด 400 วัน
ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.freepik.com/free-photo/contemporary-room-workplace-office-supplies-concept_2861617.htm
4. กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง
หากนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างในทุกกรณี เช่น ค่าทำงานล่วงเวลา ค่าทำงานวันหยุด หรือเงินค่าชดเชยอื่นๆ ที่ลูกจ้างสมควรได้รับอย่างถูกต้องตามกฎหมาย นายจ้างจะต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับลูกจ้างเป็นจำนวน 15% ต่อปี ตามระยะเวลาที่ไม่ได้จ่ายค่าจ้าง
ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.freepik.com/free-photo/doller-bills-wallet_3199592.htm
5. กรณีเปลี่ยนนายจ้าง
ในกรณีที่มีการเปลี่ยนจากนายจ้างคนเดิมเป็นนายจ้างคนใหม่ จะต้องได้รับการยินยอมจากลูกจ้าง และลูกจ้างจะมีสิทธิ์ในการได้รับค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นเดียวกับที่เคยได้รับจากนายจ้างคนก่อน
ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.freepik.com/free-photo/businessmen-shaking-hands_1509725.htm
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://hilight.kapook.com/view/80697