หลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษในการปลดล็อกกัญชาให้สามารถใช้เพื่อการศึกษาวิจัย และเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้อย่างถูกกฎหมาย หลายคนก็เริ่มหันมาสนใจประเด็นนี้กันมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่รวมไปถึงหลายประเทศทั่วโลก เพราะถึงแม้กัญชาที่ขึ้นชื่อว่าเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่งจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ก็ยังถือว่าเป็นสิ่งเสพติดให้โทษที่ผิดกฎหมาย หากไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือเพื่อการศึกษาวิจัย
ปัจจุบันมีอย่างน้อย 33 ประเทศที่อนุญาตให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ได้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น เช่น อาร์เจนตินา แคนาดา ฟินแลนด์ อิสราเอล อุรุกวัย สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา ฯลฯ แต่จะมีรายละเอียดการอนุญาตต่างกันไป บางประเทศจะต้องได้รับความยินยอมจากรัฐ ใบรับรองแพทย์ หรือใบสั่งยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย บางประเทศจะต้องซื้อกัญชาจากร้านจ่ายยาของรัฐ ในขณะที่บางประเทศจะอนุญาตให้ใช้รักษาอาการเจ็บป่วยในบางโรคเท่านั้น
การใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการสามารถทำได้แค่ในจอร์เจีย แคนาดา ศรีลังกา แอฟริกาใต้ อุรุกวัย และสเปนเท่านั้น โดยจะมีรายละเอียดและข้อห้ามที่แตกต่างกัน เช่น ประเทศสเปนห้ามบริโภคกัญชาในที่สาธารณะ จอร์เจียและแอฟริกาใต้ห้ามจำหน่าย แต่สามารถครอบครองและบริโภคกัญชาได้อย่างถูกกฎหมาย หรือในประเทศอุรุกวัยที่ต้องซื้อจากตัวแทนจำหน่ายของรัฐและไม่จำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ในปัจจุบันมีเพียงสองประเทศเท่านั้นที่รัฐบาลอนุญาตให้ใช้กัญชาได้อย่างเสรี คือสามารถใช้ได้ทั้งในทางการแพทย์และการสันทนาการ สามารถครอบครอง จำหน่าย เคลื่อนย้าย และเก็บเกี่ยวกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมายคือแคนาดาและอุรุกวัย ในขณะเดียวกันประเทศเม็กซิโกก็เตรียมผลักดันการประกาศใช้กฎหมายนี้ต่อจากแคนาดาและอุรุกวัยด้วยเช่นกัน
จะเห็นได้ว่า กัญชาเป็นยาเสพติดที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสียเช่นเดียวกับยาเสพติดชนิดอื่น
ข้อดีของกัญชา (ทางการแพทย์) : ใช้รักษาและบรรเทาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น ลมชัก หอบหืด อาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาท ผลข้างเคียงโรคมะเร็ง กระตุ้นความอยากอาหาร ชะลอน้ำหนักลดในโรคมะเร็งและโรคเอดส์ ป้องกันคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด ช่วยผ่อนคลาย (ใช้ในปริมาณที่พอเหมาะ) ฯลฯ
ข้อเสียของกัญชา : หากใช้กัญชาผิดวัตถุประสงค์หรือเสพในปริมาณมาก กัญชาจะออกฤทธิ์กดประสาท ทำให้มีอาการคล้ายเมาเหล้า เซื่องซึม และอาจทำให้ควบคุมตัวเองไม่ได้ เลื่อนลอย สมองสั่งงานช้า ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ใจสั่น หูแว่ว ฯลฯ