กระทรวงสาธารณสุข คือหน่วยงานราชการที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพอนามัย การป้องกัน ควบคุมและรักษาโรคภัย รวมไปถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพของประชาชน โดยถือเอาวันที่ 10 มีนาคม เป็นวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 ได้เปลี่ยนมาเป็นวันที่ 27 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันสถาปนากรมสาธารณสุขในกระทรวงมหาดไทยแทน

กระทรวงสาธารณสุขเกิดขึ้นได้อย่างไร?

เดิมเมื่อปี พ.ศ. 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงตั้ง “กรมการพยาบาล” ขึ้นเพื่อให้ควบคุมดูแลกิจการศิริราชพยาบาล และเพื่อให้มีหน้าที่จัดการศึกษาวิชาแพทย์ ควบคุมโรงพยาบาลอื่นๆ และจัดการปลูกฝีเป็นทานแก่ประชาชน ต่อมาในปีพ.ศ. 2432 กรมพยาบาลได้ย้ายมาสังกัดในกระทรวงธรรมการ จนในปี พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบกรมพยาบาล และให้โรงพยาบาลอื่นที่สังกัดกรมพยาบาลไปขึ้นอยู่ในกระทรวงนครบาลแทน

ในปี พ.ศ. 2451 กองโอสถศาลารัฐบาล กองทำพันธุ์หนองฝี กองแพทย์ป้องกันโรคและแพทย์ประจำเมืองที่เดิมสังกัดกระทรวงธรรมการ ได้ย้ายมาอยู่ในบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย โดยทางกระทรวงมหาดไทยได้ขอพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จัดตั้งกรมพยาบาลขึ้น จนเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 ได้ทรงประกาศให้เปลี่ยนจากกรมพยาบาลเป็น “กรมสาธารณสุข” ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาดไทย และได้มีการสถาปนากรมสาธารณสุขขึ้นเป็น “กระทรวงสาธารณสุข” ในปี พ.ศ. 2485

เครื่องหมายของกระทรวงสาธารณสุข

ทางราชการได้กำหนดให้รูปคบเพลิงมีปีกและมีงูพันอยู่รอบๆ เป็นเครื่องหมายของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเครื่องหมาย 2 ชนิดที่แสดงถึงอาชีพในวงการแพทย์ คือ คธากับงูของเอสกูลาปิอุส เทพเจ้าแห่งแพทย์สมัยกรีก และไม้ศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าอะพอลโล มีความหมายดังนี้

คธา – เป็นเครื่องหมายของความรุ่งเรืองเฟื่องฟู การค้าขาย อำนาจและการป้องกันภัย และยังเป็นเครื่องหมายบอกคุณลักษณะแห่งสุขภาพดีของร่างกายอีกด้วย

งู – สื่อความหมายถึงความเฉลียวฉลาด สติปัญญา ความรอบรู้ อำนาจและสุขภาพอันดี

ปีกที่ตัวคบเพลิง – เปรียบได้กับความขยันขันแข็ง คล่องแคล่วทะมัดทะแมง

ไม้ศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าอะพอลโล – เป็นเครื่องหมายของความสงบ ภายหลังได้มีการเติมปีกเพื่อแสดงถึงความว่องไวและปราดเปรียว