กระดูกสันหลัง เป็นส่วนที่ประกอบไปด้วยกระดูก และกล้ามเนื้อ เมื่อมองจากด้านหน้า กระดูกสันหลังจะเรียงเป็นแนวเส้นตรง หากมองจากด้านข้าง กระดูกสันหลังจะมีความโค้ง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับคนที่มีอาการกระดูกสันหลังคด เมื่อมองจากด้านหลังจะเห็นแนวกระดูกโค้งไปทางซ้าย หรือทางขวา ไม่เป็นเส้นตรงเหมือนคนปกติ ซึ่งกระดูกสันหลังคด สามารถพบได้ตั้งแต่วัยเด็กถึงผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มีภาวะกระดูกสันหลังคดตั้งแต่วัยเด็ก และเห็นได้ชัดขึ้นหรือคดมากขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงเด็กกำลังเติบโตเข้าสู่วัยรุ่น โดยภาวะกระดูกสันหลังคดมักเกิดขึ้นโดยไม่แสดงอาการ จึงถูกเพิกเฉย จนบางรายมีอาการคดมากจนเดินตัวเอียง หรือบางรายมีอาการปวดหลังแล้ว

ดังนั้น ทุกคนควรสังเกตโครงสร้างร่างกายของตัวเองให้ดี หรือถ้าพบว่าตัวเองมีอาการเดินตัวเอียง สะโพก และหัวไหล่ทั้ง 2 ข้างไม่เท่ากัน หรือแนวกระดูกสันหลังไม่เป็นเส้นตรงหรือเอียงอย่างเห็นได้ชัด ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และวางแผนการรักษาเพื่อไม่ให้แนวกระดูกคดเพิ่มจนเกิดภาวะแทรกซ้อนกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้ ซึ่งในบทความนี้เราก็จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ กระดูกสันหลังคด ความผิดปกติ ที่ต้องได้รับการรักษา เพื่อให้กลับมาเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงปกติ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

กระดูกสันหลังคด ความผิดปกติ ที่ต้องได้รับการรักษา

กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) คือ การผิดรูปของแนวกระดูกสันหลังจากปกติที่โค้งงอไปด้านหน้า และหลังเล็กน้อย กลายเป็นโค้งงอ คดงอ บิดเบี้ยวไปทางด้านข้าง ส่งผลให้ไหล่ เอว สะโพกไม่เท่ากัน มีลักษณะคล้ายตัว “C” หรือตัว “S” ทำให้ร่างกายเสียสมดุลการทรงตัวส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิต

สาเหตุของกระดูกสันหลังคด

กระดูกสันหลังคดเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ สามารถแบ่งได้ดังนี้

  1. กระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของคนไข้เด็กที่มีภาวะกระดูกสันหลังคด โดยกลุ่มนี้จะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ไม่พบความผิดปกติของกระดูก หมอนรองกระดูก หรือกล้ามเนื้อ การวินิจฉัยกระดูกสันหลังคดในเด็กกลุ่มนี้จะวินิจฉัยโดยต้องค้นหาสาเหตุอื่น ๆ ก่อน โดยถ้าไม่พบความผิดปกติจากสาเหตุอื่น ๆ ข้างต้น จะจัดผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดในเด็กเข้าในกลุ่มนี้
  2. กระดูกสันหลังคดแต่กำเนิด (Congenital Scoliosis) เป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่ก่อนคลอด โดยเป็นความผิดปกติจากพัฒนาการของทารกในครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างของกระดูกสันหลังเพียงด้านเดียว หรือการสร้างของกระดูกสันหลังที่ไม่แยกจากกัน ส่งผลให้เกิดกระดูกสันหลังคดตั้งแต่กำเนิด ซึ่งกระดูกสันหลังคดในลักษณะนี้ก่อให้เกิดความผิดปกติมาก ผู้ป่วยมักจะต้องรีบเข้ารับการรักษา
  3. กระดูกสันหลังคดจากโรคประสาทกล้ามเนื้อ (Neuromuscular scoliosis) เป็นกระดูกสันหลังคดที่เกิดจากโรคทางระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อของคนไข้ที่มีความผิดปกติ ทำให้เกิดความไม่สมดุลต่อกระดูกสันหลัง ส่งผลให้กระดูกสันหลังคด ที่พบบ่อย เช่น คนไข้มีอาการขาดเลือดทางสมองแต่กำเนิด (Cerebral Palsy) ทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังคดตอนโตได้ หรือคนไข้ที่เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscular Dystrophy) สามารถทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังคดได้
  4. กระดูกสันหลังคดจากท่าทางที่ผิด (Functional Scoliosis) อาจเกิดจากความผิดปกติตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ขาสั้นยาวไม่เท่ากัน กล้ามเนื้อหดเกร็ง การบาดเจ็บ หรือการทำกิจกรรมที่ทำให้ร่างกายไม่สมดุลซ้ำ ๆ กันเป็นเวลาหลายปี
  5. กระดูกสันหลังเสื่อม (Degenerative lumbar scoliosis) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของคนไข้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกสันหลังคด โดยสาเหตุกลุ่มนี้เกิดจากความเสื่อมของข้อกระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลังด้านซ้ายกับขวาไม่เท่ากัน ทำให้เกิดการทรุดตัวของข้อกระดูกสันหลังด้านซ้ายขวาไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดกระดูกสันหลังคด

อาการกระดูกสันหลังคด

  • แนวกระดูกสันหลังคด ไม่ตรง
  • ก้มแล้วแนวกระดูกสันหลังไม่ตรง
  • ระดับของแนวหัวไหล่ไม่เท่ากัน
  • กระดูกสะบัก โก่งนูนมากขึ้น
  • ร่องเอวสองข้างไม่เท่ากัน เหมือนเอวเบี้ยว
  • ระดับสะโพกสองข้างสูงต่ำไม่เท่ากัน
  • มีอาการปวดบริเวณต่าง ๆ เช่น ปวดคอ ปวดสะบัก ปวดหลัง ปวดเอว ปวดสะโพก ปวดขา ชาแขน หรือชาขา เป็นต้น
  • บางรายอาจมีอาการปวดรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น ปวดศีรษะชนิดรุนแรง ปวดหลังมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
  • อาจมีขาสั้น ยาว ไมเท่ากัน บางรายชัดเจนมากจนทำให้การเดินผิดปกติ
  • มีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติเวลาออกแรง หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ

กระดูกสันหลังคดสังเกตได้อย่างไร

ลักษณะอาการและความรุนแรงของโรคกระดูกสันหลังคดนั้นจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน และสิ่งที่ร่างกายแสดงออกมาก็ต่างกันด้วย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยแสดงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับร่างกาย และกระดูกสันหลัง แต่ความผิดปกติมักจะพบได้เมื่อเวลาก้มตัวหยิบของ เนื่องจากกระดูกสันหลังคดจะเห็นได้ชัดเจนเวลาก้ม สำหรับลักษณะเบื้องต้นที่สามารถสังเกตได้ มีดังนี้

  • ไหล่ทั้งสองข้างสูงไม่เท่ากัน
  • ลำตัวเอียงไปด้านใดด้านหนึ่งเวลายืนหรือเดิน
  • สะโพกหรือเชิงกรานทั้งสองข้างไม่เท่ากัน
  • แผ่นหลังหรือหน้าอกนูนไม่เท่ากัน
  • มองเห็นกระดูกสันหลังคดงอชัดเจน

การรักษาโรคกระดูกสันหลังคด

  • ผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังคดอยู่ระหว่าง 20 – 25 องศา แพทย์จะแนะนำการออกกำลังกายที่เหมาะสม และทำกายภาพบำบัด พร้อมนัดติดตามเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของแนวกระดูกทุก 6 เดือน ถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย
  • ผู้ป่วยกระดูกสันหลังคดอยู่ระหว่าง 20 – 45 องศา แพทย์จะแนะนำการใส่เสื้อเกราะดัดหลัง (Brace) อย่างน้อย 20 ชั่วโมงต่อวัน ไปจนกว่าร่างกายจะหยุดการเจริญเติบโต เพื่อชะลอหรือป้องกันไม่ให้แนวกระดูกคดมากกว่าเดิม
  • ผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังคดมากกว่า 40 – 45 องศา แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัด โดยการผ่าตัดเพื่อจัดแนวกระดูกสันหลังใหม่ การผ่าตัดนี้ใช้หลักการเดียวกับการรักษากระดูกหัก คือ การใช้โลหะช่วยดามกระดูก สันหลังคดให้ตรง

สรุป

กระดูกสันหลังคด สามารถพบได้ตั้งแต่วัยเด็กถึงผู้ใหญ่ และกระดูกสันหลังคดมักเกิดขึ้นโดยไม่แสดงอาการ แต่เมื่อปล่อยไว้นาน ๆ อาการหรือสัญญาณที่สามารถสังเกตได้ทั่วไปมีหลายอย่าง เช่น สะโพกไม่เท่ากัน ไหล่สองข้างไม่เท่ากัน ลำตัวเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง เมื่อก้มลงแล้วสังเกตเห็นว่าหลังด้านซ้ายและขวาสูงไม่เท่ากัน เป็นต้น ดังนั้น หากใครรู้สึกว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้ หรือสงสัยว่าตัวเองเป็นกระดูกสันหลังคด ให้รีบรับการตรวจจากแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่ชัดเจน และการวางแผนการดูแลสุขภาพหรือแนวทางการรักษาต่อไป เพื่อไม่ให้เป็นอันตราย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิมค่ะ

เกี่ยวกับ Plusprinting

Plusprinting เป็นโรงพิมพ์ออนไลน์ ดำเนินธุรกิจโดย บริษัท บุ๊คพลัส พับลิชชิ่ง จำกัด (BookPlus Publishing Co, Ltd.) ซึ่งทางเรามีบริการด้านการพิมพ์แบบครบวงจร พร้อมดีไซน์ให้ได้ตรงกับความต้องการ ด้วยประสบการณ์อันยาวนาน และทีมงานมืออาชีพที่พร้อมจะทำให้งานพิมพ์ออกมาตรงตามความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าทุกท่าน

ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.siphhospital.com/ , https://kdmshospital.com/ , https://www.nakornthon.com/ , https://www.paolohospital.com/ และ https://www.bumrungrad.com/

ขอบคุณรูปภาพจาก https://www.freepik.com/