วันไหว้ครู วันสำคัญของบรรดาลูกศิษย์หรือนักเรียนนักศึกษาที่จะได้เข้าร่วมพิธีไหว้ครู และได้มอบพานไหว้ครูที่บรรจงออกแบบและประดับประดาด้วยดอกไม้มงคลตามความเชื่อโบราณเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูและความเคารพต่อครูบาอาจารย์ โดยวันไหว้ครูหรือพิธีไหว้ครูโดยส่วนใหญ่จะจัดกันในวันพฤหัสบดี ซึ่งสาเหตุที่ต้องเป็นวันพฤหัสบดีก็เพราะอิทธิพลความเชื่อเกี่ยวกับครูในศาสนาพาราหมณ์ – ฮินดูที่เข้ามามีบทบาทตั้งแต่ในสมัยอยุธยานั่นเอง
ตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ – ฮินดูได้มีการนับถือเทพเจ้านามว่า “พระพฤหัสบดี” หรือพระนามเดิมคือ “ครุเทว” ว่าเป็นครูของเทวดา ซึ่งคำว่า “ครุ” ไปพ้องเสียงกับคำว่า “ครุ” ในภาษาบาลีที่แปลว่าหนัก เปรียบกับครูบาอาจารย์ที่ต้องคอยแบกรับภาระในการอบรมสั่งสอนศิษย์ และภาษาไทยก็ได้นำคำว่า “ครุ” มาเรียกผู้ให้วิชาความรู้แก่ศิษย์ว่า “ครู” อย่างที่เราเรียกกัน และได้ถือเอาวันพฤหัสบดีเป็นวันประกอบพิธีไหว้ครูมาจนปัจจุบัน
การประกอบพิธีไหว้ครูมีจุดประสงค์หลักคือเพื่อระลึกถึงความสำคัญและพระคุณของครูที่อบรมสั่งสอนและให้วิชาความรู้แก่ศิษย์ และเพื่อให้ศิษย์ได้แสดงความกตัญญูและความเคารพต่อครูบาอาจารย์ อีกทั้งยังเป็นการแสดงตนว่าขอเป็นศิษย์ของครูโดยตรง
เดิมทีการจัดพิธีไหว้ครูตามสถานศึกษาจะจัดในช่วงต้นเทอมแรกซึ่งก็คือเดือนมิถุนายน แต่ภายหลังได้มีการเปลี่ยนรูปแบบการเปิดภาคเรียนตามแบบอาเซียน จึงได้เปลี่ยนมาจัดในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นช่วงต้นเทอมแบบอาเซียนแทน
ส่วน “วันครู” ที่หลายคนอาจเข้าใจไปว่าเป็นวันเดียวกับวันไหว้ครูนั้น ความจริงแล้วเป็นคนละวันกัน อีกทั้งยังไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับพิธีไหว้ครูหรือวันพฤหัสบดีอย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นวันที่ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 โดยได้กำหนดให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น “วันครูแห่งประเทศไทย” ซึ่งตรงกับวันวันที่มีการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 นั่นเอง